วันเสาร์ที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2551

ความหมายของการเพิ่มผลผลิต
การเพิ่มผลผลิต (Productivity) ได้มีผู้ให้ความหลากหลายแตกต่างกันไป เช่น การปรับปรุงประสิทธิภาพในการผลิต การเพิ่มปริมาณผลผลิต เป็นต้น ซึ่งความหมายการเพิ่มผลผลิตสามารถแบ่งออกเป็น 2 แนวคิด คือ1. การเพิ่มผลผลิตตามแนวคิดทางวิทยาศาสตร์ หมายถึงอัตราส่วนระหว่างปัจจัยการผลิตที่ใช้ไป (Input) (แรงงาน เครื่องมือ วัตถุดิบ เครื่องจักร พลังงาน และอื่น ๆ ) กับผลผลิตที่ได้จากกระบวนการผลิต (Output) (ตู้เย็น รถยนต์ การขนส่ง)
ซึ่งทำได้ทั้งการวัดเป็นจำนวนชิ้น น้ำหนัก เวลา ความยาว และการวัดตามมูลค่าในรูปของตัวเงิน 2. การเพิ่มผลผลิตตามแนวคิดทางเศรษฐกิจและสังคม หมายถึงการที่จะหาทางปรับปรุงสิ่งต่าง ๆ ให้ดีขึ้นอยู่เสมอ โดยมีความเชื่อว่าเราสามารถทำสิ่งต่าง ๆ ในวันนี้ให้ดีกว่าเมื่อวานนี้และวันพรุ่งนี้จะดีกว่าวันนี้ ซึ่งเป็นความสำนึกในจิตใจ (Consciousness of Mind) เป็นความสามารถหรือพลังความก้าวหน้าของมนุษย์ที่จะแสวงหาทางปรับปรุงสิ่งต่าง ๆ ให้ดีขึ้นเสมอ ทั้งเรื่องของการประหยัดทรัพยากร พลังงาน และเงินตรา ที่ต้องร่วมมือปรับปรุงเร่งรัดการเพิ่มผลผลิตในทุกระดับ เพื่อหาความเจริญมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยโดยรวม
ระบบการผลิต
วงการอุตสาหกรรมในปัจจุบันได้เปลี่ยนการผลิตที่ทำด้วยมือมาเป็นการผลิตด้วยเครื่องจักร ทำให้มีผลผลิตเพิ่มมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันก็ทำให้การบริหารงานการผลิตยุ่งยากซับซ้อนขึ้น ในกระบวนการผลิตจะต้องประกอบด้วยหน่วยงานต่าง ๆ ได้แก่ ฝ่ายบริหาร ฝ่ายผลิต ฝ่ายการตลาด ฝ่ายการเงิน ฝ่ายบุคคล ฝ่ายวิศวกรรม เป็นต้น ดังนั้นแต่ละฝ่ายต้องทำงานให้สอดคล้องกันและร่วมมือกัน ช่วยกันควบคุมกันเองในสายงานของตน เมื่อทุกฝ่ายร่วมมือกันช่วยให้กระบวนการดำเนินงานมีความคล่องตัว ก็จะทำให้การดำเนินงานมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และในการผลิตก็มีองค์ประกอบของระบบผลิตที่สำคัญ 5 ส่วน ได้แก่
1. ปัจจัยนำเข้า (Input) คือ คน เงินทุน เครื่องจักร วัตถุดิบ การบริหารจัดการ ทรัพยากร เหล่านี้มีความจำเป็นในการผลิตสินค้าหรือบริการ
2. กระบวนการผลิตหรือแปลงสภาพ (Process) เป็นกระบวนการที่นำเข้ามากผลิตหรือเข้าสู่กระบวนการแปลงสภาพ เพื่อให้ได้สินค้าตามที่ออกแบบไว้ หรือการบริการตามที่ได้วางแผนไว้ ซึ่งประกอบด้วย การวางแผน วิธีการในการผลิต วิธีการจะลำดับการผลิต การจัดสรรกำลังคนเพื่อทำการผลิต และอื่น ๆ
3. ผลผลิตที่ได้ (Output) คือ สินค้าหรือบริการที่ต้องการในปริมาณ คุณภาพ และเวลาตามที่กำหนดไว้
4. ข้อมูลป้อนกลับ (Feedback) คือ ข้อมูลที่ได้ของกระบวนการผลิตในการควบคุมการติดตามและประเมินผลการทำงาน เพื่อให้บรรลุตามเป้าหมายที่วางไว้ โดยข้อมูลป้อนกลับจะทำการประเมินผลที่ได้ เช่น ปริมาณ คุณภาพของสินค้าที่ผลิตได้ และนำมาเปรียบเทียบกับเป้าหมายที่วางไว้ ถ้าไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ก็จะไปปรับปัจจัยนำเข้าหรือกระบวนการผลิตเพื่อให้ได้ผลตามที่ต้องการ
5. การเปลี่ยนแปลงที่ไม่ได้คาดหมาย (Environment) ในระบบการผลิตและการปฏิบัติการใดๆ ย่อมได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมภายนอกที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาโดยที่ไม่ได้คาดหมาย แต่มีผลกระทบต่อการดำเนินงาน ซึ่งอยู่นอกเหนือจากอำนาจการควบคุมของผู้บริหาร ระบบการผลิตแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ
1. ระบบการผลิตแบบต่อเนื่อง เป็นการผลิตสินค้าน้อยชนิดแต่ผลิตคราวละมาก ๆ (Mass Product) ซึ่งเครื่องจักรที่ใช้ผลิตสินค้าจะอยู่กับที่ และเครื่องจักรแต่ละชิ้นจะมีขนาดใหญ่น้ำหนักมาก มีอุปกรณ์นำส่งผลิตภัณฑ์เป็นสายพานจากขั้นตอนที่ 1 ไปขั้นตอนที่ 2 และไปขั้นตอนที่ ต่อไป จนสำเร็จออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ที่ต้องการ ในระบบการผลิตแบบต่อเนื่องจะเป็นการทำงานหน้าที่เดียวจำเจซ้ำซาก ทำให้พนักงานมีความชำนาญเฉพาะด้าน เช่น การผลิตผลไม้กระป๋อง การผลิตรถยนต์ โรงงานทอผ้า เป็นต้น
2. ระบบการผลิตแบบไม่ต่อเนื่อง สามารถจะผลิตสินค้าได้หลายชนิด โดยจะจัดซื้อเครื่องจักร เครื่องมือเป็นกลุ่ม ๆ เช่น งานเจาะจะอยู่กลุ่มงานเจาะ งานทำสีก็จะอยู่กลุ่มของงานสี เป็นต้น จะผลิตสินค้าครั้งละมาก ๆ ก็ได้ ไม่มากก็ได้ ผลิตภัณฑ์จะทำเป็นชิ้น ๆ จะทำทีละขั้นตอน เมื่อเสร็จเรียบร้อยในแต่ละขั้นตอนแล้วก็นำมาประกอบกันเป็นสินค้าที่ต้องการ เช่น การทำเฟอร์นิเจอร์ ตู้ เตียง เก้าอี้ การซ่อมรถยนต์ อุปกรณ์น็อกดาวน์ งานก่อสร้างต่าง ๆ เป็นต้น

การเพิ่มผลผลิตโดยหลักการ 3T 4 Zero 5R และ 6 Stepsการเพิ่มผลผลิตโดยหลักการ 3T คือ การค้นหาเวลาที่สูญเปล่าในกระบวนการผลิตและกำจัดเวลาที่เสียโดยไม่ได้ผลผลิตให้ออกไปจากการผลิต ในการนี้ต้องเข้าใจว่า T ย่อมาจาก Time ซึ่งมี 3 อย่างคือ T1 เวลาที่ใช้ในการผลิตจริงT2 เวลาที่ใช้ในการทำงานแต่ไม่ได้ผลผลิตT3 เวลาที่ไร้ประสิทธิภาพ T1 เวลาที่ใช้ในการผลิตจริง คือ เวลาที่ใช้ในการผลิตสินค้าหรือบริการจริง ๆ ที่ไม่เสียเวลาอะไรเลย ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุใด ๆ ก็ตามT2 เวลาที่ใช้ในการทำงานแต่ไม่ได้ผลผลิต คือ เวลาที่ใช้ในกระบวนการทำงานหรือกระบวนการผลิต แต่ไม่ได้ผลผลิตเพิ่มหรือไม่เกิดผลผลิตแต่อย่างไร ถือเป็นส่วนงานที่เกิน ซึ่งส่วนงานเกินเกิดขึ้นตามธรรมชาติของกระบวนการทำงาน หรือกระบวนการผลิตที่ไม่มีประสิทธิภาพและเป็นสิ่งปกติที่เกิดขึ้นทั่ว ๆ ไป ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่มาจาก
1. การออกแบบผลิตภัณฑ์หรือกระบวนการผลิตที่ซับซ้อน มีขั้นตอนการผลิตหลายขั้นตอน ซึ่งในแต่ละขั้นตอนต้องเสียเวลามาก หรือผลิตภัณฑ์ที่ออกแบบมาไม่เหมาะสมกับระบบการผลิต ทำให้ต้องเสียเวลาในการปรับปรุงแก้ไขผลิตภัณฑ์ให้เป็นไปตามที่ออกแบบไว้
2. วิธีการทำงาน คือ การทำงานที่ไม่สอดคล้องกับการผลิต หรือวิธีการทำงานที่ไม่ถูกต้องสอดคล้องกับร่างกายของคน เช่น วิธีการทำที่ต้องให้คนงานเอี้ยวตัวไปข้างหลังเพื่อหยิบชิ้นส่วนมาประกอบ เมื่อทำทุก ๆ วัน ก็ย่อมที่จะต้องปวดเมื่อยเป็นธรรมดา และทำให้เสียเวลาในการเอี้ยวตัวไปข้างหลังเพื่อหยับชิ้นส่วนเป็นต้น
T3 เวลาที่ไร้ประสิทธิภาพ คือ เวลาที่คนงานไม่ทำอะไรและไม่เกิดผลผลิตใด ๆ เลย มีการรบกวนในขณะที่ทำงาน ทำให้ต้องหยุดการทำงาน ทำให้เกิดเวลาที่เสียไปโดยไม่ได้ผลผลิต เป็นเวลาไร้ประสิทธิภาพ ซึ่งอาจจะมีสาเหตุมาจาก1. ความบกพร่องของฝ่ายจัดการ เช่น แผนกพัสดุอาจจะสั่งวัตถุดิบล่าช้าไม่ทันต่อการผลิต เป็นต้น 2. ความบกพร่องของฝ่ายแรงงาน เช่น พิจารณาได้จากการหยุด หลบ เลี่ยง รอ หลีก ของคนงาน ในการผลิตใด ๆ ก็ตามจะมีองค์ประกอบของเวลา 3T ทั้งสิ้น ดังนั้นหลักการใช้ 3T ในการเพิ่มผลผลิตคือ การค้นหา T2 และ T3 เพื่อที่จะได้กำจัดทิ้งไป และให้เหลือแต่ T1 เพียงอย่างเดียว เพราะเมื่อหา T2 ได้ก็สามารถลดเวลาส่วนเกินได้ไม่ยาก แล้วจะพบว่าการทำงานที่ไม่ได้งานในแต่ละวันเป็นสัดส่วนที่สูงพอสมควร ซึ่งถ้าหากมีวิธีจะกำจัดให้หมดไปจะเป็นการดีต่อองค์การ ในการเพิ่มผลผลิตให้สูงขึ้น ส่วน T3 สามารถพิจารณาได้จากการหยุด หลบ เลี่ยง รอ หลีก ถ้าค้นพบเวลาไร้ประสิทธิภาพและขจัดออกไปก็จะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตให้ดียิ่งขึ้น
การนำคอมพิวเตอร์มาช่วยในการผลิต
(Computer-aided Manufacturing-CAM)
การนำคอมพิวเตอร์มาช่วยในงานการผลิตสามารถนำมาช่วยงานได้หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการช่วยควบคุมกระบวนการผลิต จัดสมดุลทางการผลิต เก็บข้อมูลลำดับขั้นตอนการผลิต การคำนวณภาระงานของเครื่องจักร การวางแผนการผลิต กำหนดกระบวนการทางการผลิต คำนวณกำลังผลิต การตรวจสอบคุณภาพโดยอัตโนมัติ ทั้งนี้จะขึ้นอยู่กับโปรแกรมที่เลือกใช้ว่าจะใช้โปรแกรมอะไรที่จะทำให้งานการผลิตเป็นไปด้วยความมีประสิทธิภาพ ซึ่งในการนำคอมพิวเตอร์มาช่วยในงานการผลิตมีข้อดี คือ
1. สามารถวางผังโรงงานและเครื่องจักรได้อย่างเหมาะสม เพราะคอมพิวเตอร์จะทำให้ลดเวลาการขนย้ายวัสดุต่าง ๆ ลงได้ ทำให้รู้ว่าควรวางวัสดุตรงที่ใดจึงจะเหมาะสมและสะดวกต่อการไปใช้ รวมทั้งทำให้สามารถวางเครืองจักรได้อย่างถูกต้องตามกระบวนการผลิตำให้มีพื้นที่ใช้สอยเพิ่มขึ้นและสามารถจะใช้พื้นที่นั้นให้เกิดประโยชน์มากยิ่งขึ้น
2. ทำให้สามารถปรับปรุงระบบการผลิตได้ง่ายขึ้น โดยใช้คอมพิวเตอร์มาช่วยในการออกแบบสายงานการผลิต จัดสมดุลในสายงานการผลิต การคำนวณรอบเวลาของการผลิต ซึ่งจะช่วยให้สามารถปรับปรุงระบบการผลิตให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
3. ทำให้การวางแผนการผลิตเป็นไปด้วยความถูกต้องและรวดเร็ว ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของตลาด สามารถกำหนดการผลิตได้ตรงกับความต้องการของลูกค้า คอมพิวเตอร์ช่วยในการวางแผนและควบคุมการผลิต เป็นการลดเวลาการรอคอยหรือการว่างงานในกระบวนการผลิต ทำให้สามารถใช้ทรัพยากรที่มีอยู่เป็นไปตามแผนงานที่วางไว้ได้อย่างคุ้มค่า
4. ช่วยลดความสูญเสียจากวัสดุคงคลัง ซึ่งเป็นการลดต้นทุนด้านวัตถุดิบลงได้อีกอย่างหนึ่ง เมื่อนำเอาคอมพิวเตอร์มาช่วยควบคุมในด้านวัสดุคงคลัง และระบบการบริหารสินค้าคงคลังเป็นการลดความสูญเสียในด้านต่าง ๆ เพราะคอมพิวเตอร์สามารถช่วยในการจัดซื้อ จัดเก็บ การจัดสถานที่ให้เป็นไปด้วยความรวดเร็วและเหมาะสม ทำให้ลดความสูญเสียเกี่ยวกับวัสดุคงคลังหรือสินค้าคงคลังอีกด้วย ในการนำคอมพิวเตอร์มาช่วยในด้านการผลิต เป็นการช่วยทำให้ใช้ทรัพยากรได้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผล ทำให้สามารถปรับปรุงระบบการผลิตได้ง่ายและต่อเนื่อง รวมทั้งเป็นการลดต้นทุนวัสดุคงคลัง และสามารถจัดเก็บสินค้าที่ผลิตสำเร็จแล้วได้อย่างมีประสิทธิภาพเป็นการลดต้นทุนในการผลิตที่ดียิ่งอีกทางหนึ่ง
การนำหุ่นยนต์มาช่วยในการทำงาน
ในการนำหุ่นยนต์มาใช้ในการทำงานด้านการผลิตเพื่อทดแทนการทำงานของคนเริ่มเป็นที่นิยมใช้กันมากขึ้น ประเทศที่มีความเจริญก้าวหน้าในด้านอุตสาหกรรมพยายามที่จะพัฒนาหุ่นยนต์ให้ได้มาตรฐาน สามารถทำงานได้แทนคน อีกทั้งยังพัฒนาหุ่นยนต์ให้มีรูปแบบหลากหลายเหมาะสมกับงานการผลิต แต่การนำหุ่นยนต์มาช่วยในการทำงานก็ข้อจำกัด เนื่องจากหุ่นยนต์มีราคาสูง ทำงานได้เฉพาะอย่าง ต้องใช้ระบบคอมพิวเตอร์ควบคุมในการทำงาน ทำให้ต้องปรับกระบวนการผลิตเพื่อให้สอดคล้องกับการทำงานของหุ่นยนต์ ซึ่งจะเป็นการลงทุนที่สูงขึ้น ดังนั้นประเทศที่มีค่าแรงงานต่ำจึงไม่นิยมนำหุ่นยนต์มาช่วยในการทำงานมากนัก ในปัจจุบันการนำหุ่นยนต์มาช่วยทำงานนั้นจะเป็นการทำงานในลักษณะที่เป็นแขนกล ซึ่งควบคุมด้วยระบบคอมพิวเตอร์ งานที่มีอันตรายเกิดกว่าคนจะสามารถทำได้ก็จะใช้หุ่นยนต์หรือแขนกลเหล่านี้ทำ เช่น งานเชื่อม งานประกอบชิ้นส่วน การพ่นสี การขนย้ายสิ่งของหนัก ๆ เป็นต้น
หุ่นยนต์จะมีส่วนประกอบใหญ่ ๆ 3 ส่วนคือ
1. ส่วนทำงาน เป็นส่วนที่สามารถกำหนดตามที่ออกแบบหรือวางระบบการทำงานไว้ เช่น การขันสกรู ขันน๊อต การเคลื่อนที่ไปหยิบชิ้นส่วนมาเชื่อมให้ติดกัน เป็นต้น
2. ส่วนพลังงาน เป็นส่วนควบคุมพลังงานของหุ่นยนต์ให้สามารถทำงานได้ เช่น ระบบไฮดรอลิกส์ นิวเมติกส์ เป็นต้น
3. ส่วนการควบคุม เป็นส่วนที่คอยสั่งการหรือส่วนที่เป็นสมองของการสั่งให้ทำงานความต้องการในการติดต่อกับเครื่องมือ เครื่องจักร หรืออุปกรณ์ต่าง ๆ

ไม่มีความคิดเห็น: